วัดพระธาตุจอมจันทร์
พระธาตุจอมจันทร์ 1 ในพระธาตุเก้าจอม โปรแกรมทัวร์ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงราย
วัดพระธาตุจอมจันทร์ เป็นพระธาตุเก่าแก่ รูปทรงระฆังคว่ำ 5 ชั้น ปลายยอดแหลมตามแบบพระธาตุโบราณหลายๆ แห่งในจังหวัดเชียงราย เป็นโบราณสถานที่สำคัญของตำบลสันทราย และเป็นที่สักการะของประชาชนชาวตำบลสันทรายและตำบลใกล้เคียง ตั้งอยู่ที่บ้านจอมจันทร์ หมู่ที่ 2 ตำบลสันทราย อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
ประวัติพระธาตุจอมจันทร์
พระธาตุจอมจันทร์ ตั้งอยู่ ณ วัดจอมจันทร์ ตำบลสันทราย อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ทั้งหมด จำนวน 128 ไร่ 2 งาน 34 ตารางวา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553 ท่านพระครูบาทิพย์ คนโธ ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติธรรมร่วมสมัยเดียวกันกับครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย อยู่ห่างจากสถานที่พระธาตุ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 2 กิโลเมตร ท่านได้เป็นประธานเริ่มก่อสร้างพระธาตุองค์นี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2458 ได้รับความเมตตาจากท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย นำคณะศรัทธาสาธุชนจำนวนมาก มาช่วยในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว
เหตุที่สร้างพระธาตุจอมจันทร์ขึ้นนั้น ได้รับทราบจากผู้สูงอายุท่านหนึ่ง ที่เคยปฏิบัติอุปฎฐาก รับใช้ใกล้ชิดและเป็นลูกศิษย์ของครูบาทิพย์ ในสมัยเมื่อยังบวชเป็นสามเณรอยู่ ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาของพระธาตุจอมจันทร์ให้ฟังว่า มีอยู่คืนหนึ่ง ครูบาทิพย์ได้มองไปยังภูเขาลูกนี้โดยบังเอิญ ได้เห็นมีแสงพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าสว่างระยิบระยับเป็นสีเขียว ๆ สักครู่ก็หายไป ท่านก็เข้าใจว่าเป็นแสงแห่งรัศมีของพระธาตุ พอวันรุ่งขึ้นท่านก็ได้ชวนสามเณร (คือผู้บอกเล่า) ขึ้นไปสำรวจดูบนยอดเขาแห่งนี้ ก็เห็นว่าเป็นสถานที่มีร่องรอยของผู้คนสมัยก่อนเคยอาศัยอยู่ เหมาะสมที่จะก่อสร้างพระธาตุเจดีย์เป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงได้ทำการก่อสร้างขึ้น เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ตั้งชื่อว่า “พระธาตุจอมจันทร์”
ตำนานพระธาตุจอมจันทร์
วัดพระธาตุจอมจันทร์ สร้างขึ้นประดิษฐานอยู่บนยอดเขา หมู่บ้านจอมจันทร์ หมู่ที่ 2 ตำบลสันทราย อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ทั้งหมด 101 ไร่ 2 งาน 34 ตารางวา ท่านพระครูบาทิพย์ คันโธ เจ้าอาวาสวัดบ้านแหลว ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติธรรมร่วมสมัยเดียวกันกับครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย อยู่ตำบลเดียวกันห่างจากสถานที่พระธาตุตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 1 กิโลเมตร ท่านได้เป็นประธานเริ่มก่อสร้างพระธาตุองค์นี้ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2458 ได้รับความเมตตาจากท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย นำคณะศรัทธาสาธุชนจำนวนมาก ช่วยกันก่อสร้างจนแล้วเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว โดยมีรูปทรงสัณฐาน คล้ายกับพระธาตุดอยสุเทพ และพระธาตุดอยตุง ในปัจจุบัน
ตามหนังสือตำนานเมืองเชียงแสนได้บันทึกไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาในเวลาตอนเย็นขึ้นสู่ภูเขาลูกหนึ่งซึ่งมียอดเขาที่ราบเรียบและสวยงามมาก พระพุทธเจ้าจึงได้ประไสยาส (นอน) อยู่ที่นี่คืนหนึ่ง ครั้นรุ่งแจ้งท่านพิจารณาตรวจดูคิดว่า ภูเขาลูกนี้ สูง ชัน และคนทั้งหลายก็ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้ามานอนที่นี้ หากขึ้นมาก็ยาก เหตุว่าสูงชัน ครั้นคิดได้ดังนี้แล้วท่านก็ได้ลูกเอาพระเกศาธาตุเส้นหนึ่ง ให้พระสารีบุตรเถระกับพระเจ้าอโสกราช และท้าวสักกะจอมเทวะดา ทั้ง 3 ท่านได้พร้อมกันใส่ไว้ในโกศแก้ว แก้วได้นำบรรจุไว้ที่ยอดดอยแห่งนี้ เสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทำนายว่า ภายภาคหน้า หากสิ้นเมืองโยนกนครราชธานีชัยบุรีศรีช้างแส่นไป (ปัจจุบันเรียกอำเภอเชียงแสน) ผู้คนทั้งหลายจักได้พร้อมกันแต่งตั้งให้ชายผู้หนึ่ง อยู่บ้านเชิงดอยทางทิศใต้นี้ให้เป็นใหญ่แก่เขาแล้ว ก็ปรึกษากันว่าจักสร้างหมู่บ้านใหญ่ที่นี่ให้เป็นเวียงเพื่อป้องกันศรัตรู จากนั้นพวกเขาจักได้พร้อมในกันสร้างเจดีย์ ครอบเกศาธาตุ เมื่อนั้นจักได้ชื่อว่า “พระธาตุเจ้าดอยชัน” เหตุเพราะเป็นภูเขาสูงชัน เหตุที่ท่านครูบาทิพย์ คันโธ ได้เป็นประธานก่อสร้างพระธาตุองค์นี้ขึ้นที่บนยอดดอยแห่งนี้นั้น ได้รับทราบจากท่านผู้สูงอายุท่านหนึ่ง ที่เคยปฏิบัติอุปัฎฐากใกล้ชิด และเป็นลูกศิษย์ของครูบาทิพย์ ในสมัยเมื่อยังเป็นสามเณรน้อยอยู่ ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาของพระธาตุจอมจันทร์องค์นี้ให้ฟังว่า มีอยู่วันหนึ่ง ครูบาทิพย์ ท่านได้มองดูไปยังภูเขาลูกนี้โดยบังเอิญ (ในเวลากลางคืน) ได้เห็นมีแสงพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าสว่างระยิบระยับเป็นสีเขียว ๆ สักครู่ก็หายไป พอวันรุ่งขึ้นท่านครูบาฯ ก็ได้ชวนสามเณร (คือท่านผู้บอกเล่าในสมัยนั้น) ขึ้นไปสำรวจตรวจดูบนยอดเขาแห่งนี้ ก็เห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสมที่จะก่อสร้างพระธาตุเจดีย์เป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงได้เริ่มสร้าง เมื่อสร้างเสร็จก็ตั้งชื่อว่า “พระธาตุดอยจัน” ตามที่ได้ศึกษาค้นคว้าตำนานเมืองเชียงแสนเห็นว่า พระพุทธเจ้าเคยได้ทำนายไว้ (ปัจจุบันได้เรียกตามภาษาล้านนา จากคำว่า ดอย ถ้ามีอยู่ลูกเดียวไม่ติดกับภูเขาลูกอื่น เรียกว่า “จอม” จากคำว่า ชัน เรียกว่า “จัน” เขียนตามแบบภาษาไทยว่า “พระธาตุจอมจันทร์”) แปลว่าเครื่องไล้ทา ซึ่งเป็นของหอม
ฉะนั้นผู้ใดได้กราบไหว้จะทำให้ผู้นั้นมีผิวพรรณผ่องใส เจริญตาเจริญใจ มีชื่อเสียงหมอหวนทวนลมและตามลม ครูบาทิพย์ เมื่อสร้างพระธาตุเจดีย์เสร็จแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2468 ท่านก็ได้สร้าง กุฏิ วิหาร ศาลาและหอระฆัง ตามลำดับ แล้วได้ตั้งชื่อว่า “วัดพระธาตุจอมจันทร์” มีพระภิกษุและสามเณร อยู่จำพรรษาติดต่อกันมาจนถึงปี พ.ศ.2480 ได้มีไฟป่าลุกลามไหม้ศาลาและกุฏิจนหมด คงเหลือไว้แต่พระธาตุเจดีย์ และวิหาร เท่านั้น
ในเมื่อศาลาและกุฏิถูกไปไหม้จนหมดแล้ว พระเณรก็อยู่อย่างลำบาก เพราะสมัยนั้นยังมีพวกสัตว์ป่าที่ดุร้าย มีเสือ เป็นต้น ชาวบ้านจึงได้นิมนต์พระ เณร ย้ายวัดมาสร้างอยู่ข้างล่าง ซึ่งห่างจากวัดพระธาตุจอมจันทร์เดิม ประมาณ 300 เมตร (โดยมีพ่อน้อยอ้าย ทรายยาโน) เป็นผู้มอบถวายที่ดินให้และได้ตั้งชื่อวัดที่สร้างขึ้นใหม่ว่า “วัดจอมจันทร์” ตามเดิม แต่ตัดคำว่า “พระธาตุ” ออกไป
ส่วนวัดพระธาตุจอมจันทร์ เมื่อเสนาสนะถูกไฟไหม้ ก็เลยไม่มีพระภิกษุและสามเณรอยู่จำพรรษา กลายเป็นวัดร้างตั้งแต่บัดนั้นมา แต่ยังเป็นที่สักการะและเคารพของสาธุชนทั้งหลายอยู่ จัดเป็นโบราณสถานสำคัญ ที่มีอยู่ 1 ใน 9 จอมของจังหวัดเชียงราย จนถึงปี พ.ศ. 25329 พระมหายงยุทธ เทวธมฺโม (ทรายยาโน) เจ้าอาวาสวัดจอมจันทร์ปัจจุบัน ก็ได้เป็นประธานเริ่มบูรณะองค์พระธาตุขึ้นใหม่โดยฉาบปูน ทับของเก่าที่มีอยู่เดิมไว้ และได้ก่อสร้างอุโบสถ วิหาร กุฏิ ศาลา ห้องน้ำ หอระฆัง บันไดพญานาคทางขึ้นพระธาตุ ตามลำดับที่เห็นปรากฏอยู่ปัจจุบันนี้
ข้อมูลติดต่อ
วัดจอมจันทร์ ตำบลสันทราย อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โทร / แฟ็กซ์ 053-772129